วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553










วัดหน้าพระเมรุ




ประวัติ

ตำนานกล่าวถึงวัดนี้ว่า พระองค์อินทร์ในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงสร้างเมื่อจุลศักราช ๘๖๔ (พ.ศ. ๒๐๔๖) ประทานนามว่า “วัดพระเมรุราชิการราม” แต่ประชาชนส่วนมากนิยมเรียกว่า “วัดพระเมรุ” จึงเป็นนาม ของวัดที่ใช้มาจนทุกวันนี้ ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงเหตุการณ์คราวทำสัญญาสงบศึกระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง มีการปลูกพลับพลาเป็นที่ประทับ ซึ่งอยู่ด้านหน้าวัดพระเมรุกับวัดหัสดาวาส (ปัจจุบันวัดหัสดาวาสเหลือเพียงซากเจดีย์) อีกตอนหนึ่งเมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าอะลองพญามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ พ.ศ ๒๓๐๓ พม่า เอาปืนใหญ่มาตั้งที่วัดพระเมรุราชิการามกับวัดหัสดาวาส พระเจ้าอะลองพญาทรงบัญชาการและทรงจุดปืนใหญ่เอง ปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในวัดพระเมรุราชิการามแตกต้องพระองค์บาดเจ็บสาหัส ประชวรหนักในวันนั้น พอรุ่งขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๐๓ พม่าเลิกทัพกลับไปทางเหนือหวังออกทางด่านแม่ละเมาะ แต่ยังไม่พ้นแดนเมืองตาก พระเจ้าอะลองพญาก็สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง
จุดที่น่าสนใจ

พระอุโบสถ ยาวประมาณ ๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๑๖ เมตร มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หน้าพระอุโบสถสู่ทิศใต้ หลังพระอุโบสถสู่ทิศเหนือ พระอุโบสถมีส่วนยาวและกว้างมาก มีอากาศ ถ่ายเท ไม่อับ ไม่มีหน้าต่างอย่างพระอุโบสถ สันนิษฐานว่าผู้สร้างคงจะสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยีบเศียรนาคและมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาคล้อมรอบด้วยหมู่เทพนม (เทพชุมนุม) จำนวน ๒๖ องค์มีบังฐานและกระจัง ลงรักปิดทอง ติดกระจกสี เช่นเดียวกับด้านหน้า ภายในพระอุโบสถเดิมมีภาพเขียนด้วยสีโบราณเป็นรูปภิกษุณีสงฆ์ การบูรณะในขั้นต่อๆมา ถูกฉาบทาด้วยปูนเลียบขาวปรากฏดังเช่นปัจจุบันนี้ การบูรณะส่วนอื่นๆ ของตัวพระอุโบสถได้รักษาส่วนและรูปทรงของเดิมไว้ทุกส่วน คงมีแต่ลายที่เสาและลายเขียนที่ฝาผนัง ซึ่งถูกลบเลือนสันนิษฐานว่าการบูรณะ ครั้งหลังนี้คงจะหาช่างที่มีฝีมือทัดเทียมของเดิมได้ยาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น